Main webboard   »   General Board
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   170752 “จำนำ-ประกันราคา...ฤาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไทย”  (Read: 2966 times - Reply: 0 comments)   
ammat2008

Posts: 3 topics
Joined: 1/6/2552

170752 “จำนำ-ประกันราคา...ฤาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไทย”
« Thread Started on 31/8/2552 16:34:00 IP : 158.108.84.107 »
 

 Post by: sweet_surely on Jul 17th, 2009

การเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง

“จำนำ-ประกันราคา...ฤาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไทย”

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552  เวลา 8.00-12.30 น. 

ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล  อาคารสารนิเทศ 50 ปี 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

(170752) 200984_58747.jpg(170752) 200984_58870.jpg (170752) 200984_59655.jpg (170752) 200984_59627.jpg

(170752) 200984_58327.jpg (170752) 200984_58843.jpg 

  คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ มาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล

โดย ฯพณฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ  รองนายกรัฐมนตรี 

ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) 

                 หลายท่านอาจไม่ชอบใจที่ในช่วง 6-8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้นโยบายในลักษณะที่เป็นประชานิยม และนำนโยบายในการรับจำนำมาใช้ แท้ที่จริงแล้วเป็นการจำนำที่ไม่มีใครอยากไถ่ถอน เรียกว่าเป็นการตั้งโต๊ะซื้อของในราคาแพงกว่าราคาตลาด ซึ่งสำหรับนักการตลาดทั้งหลายก็จะรู้ว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วตลาดก็จะล่มสลายอย่างสิ้นเชิง เพราะที่ทำกันมาก็ขาดทุนมาตลอด เงินที่ขาดทุนกันมาช่วงแรกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และวิธีการทางการคลังที่ใช้ก็คือการแอบเอาเงินภาษีของประชาชนไปผ่อนชำระ ใช้เวลาประมาณ 12 ปี เหล่านี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว

                ฉะนั้น ในวันนี้จะมี 2 ส่วนที่จะกล่าวถึง ส่วนแรกเป็นนโยบายเก่า คือเราตั้งโต๊ะรับซื้อของแพง ราคาที่ซื้อไปส่งออกใครไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่ใช้ไม่ได้ และพ่อค้า โรงสีทั้งหลายก็ไม่ซื้อของ เพราะว่าเกษตรกรไม่อยากขายให้ แต่บางส่วนก็ซื้อได้ในราคาถูกอยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับราคาจำนำเลย ชี้ให้เห็นว่าเป็นนโยบายเดิม และเวลาเราซื้อของมาก็ต้องหาที่เก็บ ซึ่งของบางอย่างไม่สามารถเก็บได้ เช่น หัวมันสด ต้องแปรสภาพ เราจึงต้องเสียค่าแปรสภาพ ซึ่งควบคุมไม่ได้ว่าค่าแปรสภาพหล่นหายไปเท่าไหร่ และไม่มีผู้รับผิดชอบ ของถูกเก็บอยู่ในโกดังเป็นเดือนๆ นี่คือระบบที่ทำกัน วันดีคืนดีรัฐบาลก็ปล่อยขาย ภาคธุรกิจก็เข้ามาซื้อ ซึ่งรัฐบาลซื้อของมาแพง แต่ราคาตลาดไม่เคยขายได้เลย ขายต่ำกว่าราคาตลาดถึง 30% เพราะฉะนั้นเงินภาษีของประชาชนจึงต้องถูกนำมาชดเชยกับความเสียหายในส่วนนี้

                หลักการของเราคือ เกษตรกรทุกคนที่เดินเข้ามาหากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกคนที่กล้าเดินไปหา ธ.ก.ส. แล้วให้ข้อมูลว่าทำไร่จำนวนเท่าใด ซึ่งที่ดินนั้นอาจเป็นที่ดินของตัวเอง หรือเป็นที่ดินที่แอบไปบุกรุกมานาน ตรงนี้เราก็อาจจะอนุโลมได้ แต่ขอให้กล้าที่จะเดินเข้ามาแล้วลงทะเบียน ถ้าหากเป็นชาวนาก็ต้องทำเหมือนกัน เพราะต้นปีมกราคม ปี 2553 สินค้าเกษตรจะเดินเข้า-ออกโดยไม่เสียภาษี หมายความว่าจะมีเกษตรกรชาวเขมร พม่า ลาว เวียดนาม ฯลฯ ที่ไม่ใช่เกษตรกรไทย เอาสินค้าของตนผ่านเข้ามาทางนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า ประเด็นที่หนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าบ้านเราซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมอันดับหนึ่ง แต่ไม่มีทะเบียนเกษตรกรที่อัพเดท สุดท้ายได้เงินไป 10 กว่าล้านบาท ของกระทรวงเกษตรฯ และวันนี้เราได้เอาต้นกล้าอาชีพเข้าไปช่วย 190 กว่าล้านบาท เพราะผมจ้างน้องๆ ที่ไม่มีงานทำ 8,000 คน ลุยไปทั่วประเทศ เพื่อไปทำทะเบียนให้อัพเดทมากที่สุด เมื่อเราได้ตัวเกษตรกรที่แท้จริงแล้ว เราก็เข้าไปดูได้เลยว่าเกษตรกรคนใดคือคนที่เราจะช่วย ซึ่งในอนาคตจะทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องทำอย่างนี้ทุกปี

                เมื่อสักครู่ผมได้พูดถึงเรื่องครัวเรือน จำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่มีข้าวเปลือกนาปี 3.7 ล้านครัวเรือน ข้าวเปลือกนาปรัง 4 แสนกว่าครัวเรือน มันสำปะหลัง 4.8 แสนครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2.9 แสนครัวเรือน ปรากฎว่าการจำนำในลักษณะที่ตั้งโต๊ะซื้อในราคาแพง ทุกคนดีใจ แต่ซื้อมาแล้วขายไม่ได้ ไม่มีกำไรเพียงพอที่จะมาใช้หนี้ เพราะฉะนั้นนโยบายอันใหม่นี้มีกำไร เพราะจากนี้ไปเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 490,000 คน ทีมาลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. ทำมาค้าขายต้องมีกำไร แล้วก็มีเงินมาคืน ธ.ก.ส. ทำให้ ธ.ก.ส. มีประสิทธิภาพในการปล่อยเงินกู้ คือปล่อยกู้ได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผมย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับราคาตลอด เทียบกับของเก่า 4.9 ล้าน แต่ได้จริงๆ 8 แสนกว่า หมายถึงอีก 4 ล้านที่เหลือไม่ได้ขายได้ในราคาจำนำเลย มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าเขาขายได้เท่าไหร่ เพราะไม่มีใครคอยติดตามเลย จึงมีผลสำรวจออกมาเมื่อวานซืนนี้ว่า เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละเกือบแสนบาท ฉะนั้นจึงอยากเรียนว่ารัฐบาลของท่านนายกอภิสิทธิ์ จะไม่มีการตั้งโต๊ะซื้อในราคาแพงอีกต่อไป เพราะการตั้งโต๊ะซื้อในราคาแพง ข้าวเปลือกนาปีมีค่าใช้จ่าย 1,270 ล้านบาท, ข้าวเปลือกนาปรัง 3,413 ล้านบาท, มันสำปะหลัง 6,494 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,062 ล้านบาท เท่ากับว่าเราเสียไปฟรีๆ ให้กับค่าใช้จ่ายในการแปรสภาพ ค่าเก็บของใส่โกดัง ฯลฯ เป็นเงินถึง 12,239 ล้านบาท หมายความว่าถ้าการระบายของที่มีอยู่ในสต็อกทั้งหมด ซึ่งมีต้นทุน 146,930 ล้านบาท ไม่สามารถทำได้เท่าทุน ในเมื่อต้นทุนไปซื้อมันที่ราคา 2 บาท จะไปขายใครได้ นักธุรกิจมองแล้วว่าไม่มีทางไปแข่งขันกับตลาดโลกได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องขายได้อย่างเดียวคือราคาตลาด แต่รัฐบาลก็ขายต่ำกว่าราคาตลาด ผมก็เข้าไปเบรกไว้ ด้วยเหตุผลว่าต้องพยายามดู ถ้าจะต่ำกว่าราคาตลาดก็ต้องเป็นราคาต่ำที่ไม่มีการฮั้วเด็ดขาด ต้องสร้างกลไกขึ้นมาให้ได้ ต้องทำให้คนปฏิบัติหลุดพ้นจากการครอบคลุมทางการเมืองให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นเรื่องการระบายสินค้า เราจึงได้ยินข่าวว่ามีการแบ่งเค้กกันไม่ลงตัว แต่ผมก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าผมไม่กินเค้ก ก็ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป

                สิ่งที่เราทำได้ขณะนี้ ก็คือต้องทำใจว่า 12,239 ล้านบาทนั้น คงไม่ได้คืนแล้ว และ 146,930 ล้านบาท ไม่ทราบว่าจะขายได้เท่าไหร่ ตัวเลขเบื้องต้นคาดว่าอย่างต่ำที่สุด 25,000 ล้านบาท คือเป็นค่าใช้จ่าย 12,239 ล้านบาท และอีกประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท อันนี้หมายความว่าตลาดดี

                ขณะนี้ก็เป็นข่าวดี เนื่องจากรัฐบาลถือของไว้เยอะ แล้วก็ดูท่าว่าจะขายเก่งหน่อย คำว่าขายเก่งคือขายอย่างโปร่งใส และไม่ขายให้กลับเข้ามาในประเทศ เพราะฉะนั้นนักธุรกิจในตลาดก็ต้องวิ่งไปซื้อของที่เกษตรกร เพราะมองดูแล้วว่าการเปลี่ยนใจรัฐบาลชุดนี้ให้ขายให้พวกเขาเป็นเรื่องที่ยาก ฉะนั้นจึงต้องวิ่งไปซื้อกับเกษตรกร ทำให้มันมีราคาสูงขึ้น แต่ก็ดีใจได้ว่าเงินภาษีปีนี้จะไม่หายไป ยังไงก็หมดไปแล้ว 12,239 ล้านบาท และอีก 12,000-13,000 ล้านบาท ก็ค่อนข้างชัดเจน ก็รวมเป็น 25,000 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลนี้เก่งพอก็อาจจะขาดทุนแค่ 30,000 ล้านบาท ถ้าไม่เก่งพอก็ขาดทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท ฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้

                นโยบายเชิงรุกของเรา ก็คือการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุน โดยทุ่มเงินจากการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็ง เพื่อนำเงินมาพัฒนาแหล่งน้ำ 1,400 แห่ง ใช้เงิน 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในเรื่องชลประทาน ที่จะใช้เงินลงทุนล้วนๆ 3 ปี ถึงเกือบ 240,000 ล้านบาท ซึ่งมีความคุ้มค่าอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างงานให้พี่น้องเกษตรกร และเพิ่มผลผลิต ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ต้นทุนต่อหน่วยจะต่ำกว่า มันก็จะได้รับประโยชน์ 2 ทางคือ เกษตรกรมีรายได้รวมมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ไม่ต้องบริโภคของแพง เพราะราคาต่อหน่วยไม่ได้ขยับขึ้นมาก

                ดังนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ 1.เรื่องทะเบียนเกษตรกร 2.เรื่องการจำนำแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งเราจะไม่ทำในลักษณะนี้อีกแล้ว และ 3.เรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกร โดยจะเริ่มจากข้าวโพด และจะเร่งในเรื่องของมันสำปะหลัง และเรื่องข้าวต่อไป ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลังนั้นได้มีระเบียบออกมาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ ธ.ก.ส. น่าจะพร้อมพอสมควร 

  

  

เสวนาหัวข้อ จำนำ-ประกันราคา...ฤาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไทย

วิทยากรร่วมเสวนา 

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ  รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส.

นายอรรถ อินทลักษณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์  นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย 

นายประสิทธิ์ บุญเฉย  นายกสมาคมชาวนาไทย 

คุณสุวรรณา ตุลยวศินพงศ์  นักวิจัยอาวุโสสถาบันทีดีอาร์ไอ

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ 

                แนวคิดของโครงการประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. มาลองคิดหามาตรการที่จะเข้ามาทดแทนโครงการรับจำนำ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เล็งเห็นว่า การรับจำนำมีปัญหามากมายเกิดขึ้น ทาง ธ.ก.ส. จึงได้คิดโครงการประกันราคานี้ขึ้นมา โดยจะทำเป็นโครงการนำร่องทดลองดูกับสินค้าเกษตรประเภทข้าวเปลือกหอมมะลิก่อน โดยเลือกในพื้นที่จังหวัดที่มีการปลูกจริง และเป็นพื้นที่ข้าวที่ดี ก็คือพื้นที่ 8 จังหวัดรอบทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี และนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเน้นไปที่ตัวชาวบ้าน ให้ชาวบ้านสามารถรับราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นจริงๆ และใช้กลไกตลาดในธุรกิจปกติ ลดปัญหาการบิดเบือนราคา และคาดหวังว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินน้อยลง

                หลักการทำงาน อันดับแรกคือคำนวณจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก่อน เราคำนวณต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ปีบัญชี 2552 เท่ากับ 10,752 บาท/ตัน บวกด้วยกำไรที่เกษตรกรพึงจะได้รับ บวก 30% เท่ากับ 3,225.60 บาท แต่เนื่องจากปีหนึ่งทำนาได้เพียงหนึ่งครั้ง กำไรเพียง 30% อาจจะน้อยไป จึงปรับเป็น 35% เท่ากับ 3,763.20 บาท และจะให้ค่าขนส่งอีกตันละ 250 บาท เพราะฉะนั้นราคาประกันจะเท่ากับ 14,765.20 บาท (10,752+3,763.20+250) อย่างไรก็ตามราคาประกันที่แน่นอนต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการก่อนว่า จะให้เกษตรกรมีกำไร 30% หรือ 35%

                นอกจากนี้ทางคณะกรรมการกำหนดไว้เบื้องต้นว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิที่เข้าโครงการประกันราคาขณะนี้ ตั้งเป้าไว้ประมาณ 2 แสนตัน ส่วนวิธีการทำงานนั้น ตั้งแต่ช่วง ก.ค.-ส.ค. 2552 ทางเกษตรตำบลและอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด จะไปร่วมกันจัดประชุมประชาคมและขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และในช่วง ส.ค.-ก.ย. 2552 ทาง ธ.ก.ส. ก็จะทำหน้าที่รับสมัครเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ และทำข้อตกลงการประกันราคากัน หลังจากนั้นประมาณเดือน ก.ย.-พ.ย. 2552 ก็จะติดตามผลในพื้นที่จริง ว่าเกษตรกรปลูกจริงหรือไม่ ทั้งนี้ทาง ธ.ก.ส. จะลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกร เช่น สอนให้ดูดินเป็น สอนให้ทำปุ๋ยเองได้ เป็นต้น ขณะเดียวกันในช่วง ธ.ค. 2552 – ม.ค. 2553 ก็อาจให้เกษตรกรเข้ามาเคลมราคาได้ โดยจะมีการประกาศราคาตลาดอ้างอิงทุกสัปดาห์ และจะปิดโครงการประมาณ ก.พ. 2553 เมื่อเกษตรกรเข้ามาประกันราคาแล้ว

                ความต่างของการรับจำนำและการประกันราคา คือ ราคาที่รัฐบาลจะจ่ายเงินสด ถ้าเป็นประกันราคาต่อเกวียนจ่าย 1,700 บาท ถ้าเป็นการรับจำนำต้องจ่ายทันที 13,000 บาท แล้วถ้าหากชาวนาทำประกันได้เงินสุทธิ 16,700 บาท ถ้าจำนำและราคาตลาดเป็น 15,000 บาท เท่าๆ กัน เกษตรกรจะได้รับ 14,700 บาท เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นการประกันราคา โรงสีหรือผู้ส่งออกจะค้าขายปกติ แต่ถ้าเป็นการจำนำ แล้วชาวบ้านไม่มาไถ่ รัฐบาลต้องรับภาระทั้งหมดเลย เหล่านี้เป็นแนวทางง่ายๆ ที่ให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้าใจถึงหลักการและความแตกต่างระหว่างการจำนำกับการประกันราคา

นายอรรถ อินทลักษณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

                ผมมองว่าโครงการประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของรัฐบาลร่วมกับ ธ.ก.ส. น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นโครงการที่คิดไวทำไว แต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้นคงไม่ได้อยู่ที่ความเร็วหรือช้าเพียงอย่างเดียว คงมีอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดราคาก็เป็นหลักสำคัญ เพราะสำหรับชาวบ้านนั้นความพอใจเป็นเรื่องใหญ่ หากราคาที่กำหนดไว้ไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็อาจเกิดปัญหามวลชนขึ้นได้ ขณะเดียวกันเรื่องของระบบกลไกตลาดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีส่วนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นด้านการบริหารจัดการโครงการ คิดว่าเราต้องคลายความรับผิดชอบระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคให้มากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต

                สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น ก่อนจะทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกร น่าจะมีการตรวจสอบเอกสารก่อน แล้วจึงมีการทำประชาคมเพื่อตรวจสอบกันเองในชุมชน สุดท้ายจึงค่อยทำการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร

                ขณะนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านให้ความสำคัญมากในเรื่องการจัดทำทะเบียนเกษตรกร โดยเราเริ่มทำทะเบียนเกษตรกรทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 โดยวางแผนไว้ว่าจะต้องแล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2552 ซึ่ง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ 

                ความจริงแล้วเรื่องการรับจำนำนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกทุกคนค่อนข้างลำบากใจ เพราะเป็นเรื่องที่บิดเบือนตลาดค่อนข้างมาก โดยในปีหลังๆ ที่ผ่านมา มีการตั้งราคารับจำนำที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเลย เป็นการเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะในปีที่แล้วยิ่งทำให้วิธีการหรือการพัฒนาด้านต่างๆ เกี่ยวกับข้าวทั้งหลายถูกทำลายหมด กลไกตลาดการค้าเสรีก็ถูกทำลายไปด้วย ผลพวงของการรับจำนำในราคาที่สูงๆ ที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือเรื่องของการส่งออกที่ลดลง เพราะต้นทุนของเราสูงขึ้น ลูกค้าต่างประเทศก็เห็นว่าราคาข้าวของไทยไม่สอดคล้องกับราคาตลาดโลก จึงหลีกเลี่ยงไม่ซื้อข้าวของไทย ทำให้การส่งออกข้าวลดลง

ขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามก็ได้รับประโยชน์จากการที่ราคาข้าวของไทยสูงเกินปกติ เวียดนามจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมาขายแข่งกับเรามากขึ้น โดยในปีนี้ตัวเลขส่งออก เห็นได้ชัดเลยว่าตัวเลข GAP ระหว่างไทยกับเวียดนามแคบลงทุกวัน ปีที่แล้วไทยส่งออก 10 ล้านตัน เวียดนามส่งออกประมาณ 4.75 ล้านตัน แต่ ณ วันนี้ ประเทศไทยส่งออกข้าวไป 4.6 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกไป 4 ล้านตัน ผมคิดว่าปีนี้ทั้งปี GAP ของไทยอาจจะแคบที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ปีนี้คาดว่าเราจะส่งออกได้ประมาณ 8-8.5 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามขยับตัวเลยส่งออกขึ้นมาเป็น 6 ล้านตัน ซึ่งอาจทำให้ไทยเสียแชมป์ด้านการส่งออกข้าวให้กับเวียดนามก็เป็นได้ นอกจากเวียดนามแล้ว พม่าก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังมาแรงเรื่องการส่งออกข้าว เพราะเมื่อ 40 ปีที่แล้ว พม่าเคยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและปัญหาการเมืองต่างๆ ทำให้พม่าการส่งออกข้าวถดถอยลงไป ปกติในแต่ละปีพม่าส่งออกข้าวประมาณ 1-2 แสนตัน แต่ในปีนี้พม่าได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งออกข้าวประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งนี่ก็เป็นผลพวงจากการที่ไทยตั้งราคารับจำนำไว้สูงเกินไป

เพราะฉะนั้น การรับจำนำราคาสูงๆ ส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย นอกจากจะส่งออกข้าวได้ลดลง จนทำให้ประเทศเพื่อนบ้านตั้งตัวเป็นคู่แข่งได้แล้ว ยังเกิดปัญหาที่พ่อค้าในไทยไปรับซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามแดนมาขายในประเทศอีกด้วย ทำให้การควบคุมคุณภาพข้าวก็ทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้การรับจำนำในราคาที่สูงขึ้นนั้น ยังส่งผลให้เกษตรกรเร่งปลูกโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว เห็นได้จากในช่วงหลังๆ มานี้ มีการใช้พันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ทำให้คุณภาพของข้าวไทยถึงขั้นเลวลง และได้รับการติติงจากลูกค้าต่างประเทศที่เคยมั่นใจในข้าวไทย ว่ามีคุณภาพเหนือกว่าข้าวประเทศอื่นๆ

นายประสิทธิ์ บุญเฉย 

                ถ้ารัฐบาลจะเข้าไปสู่โครงการนำร่องการประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ก็จะไม่เกิดผลกระทบมากนัก เพราะราคาตลาดกับราคาที่เราตั้งไว้ ค่อนข้างสมดุล ไม่ต่างกันมาก นอกจากนี้ยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องชาวนาไทยทางภาคอีสานซึ่งปีหนึ่งจะทำนาได้ครั้งเดียว ได้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไป

                โครงการที่รัฐตั้งประกันไว้อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน แต่จากการที่ผมได้สำรวจมาเมื่อปี 2551 ราคาต้นทุนต่อไร่ของข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 5,100 บาท ซึ่งต้องทำประมาณ 3 ไร่ ถึงจะได้ข่าว 1 ตัน ดังนั้นตรงนี้ก็ยังไม่น่าดีใจเท่าไหร่ สำหรับพี่น้องชาวนาใน 8 จังหวัด โครงการนำร่อง เพราะถ้าคำนวณดีๆ บางทีอาจจะเสมตัวก็ได้ ไม่ใช้ว่าประกันราคาแล้วชาวนาจะรวย เพราะนอกจากค่ายาค่าปุ๋ยแล้ว ชาวนายังต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งยังมีค่าน้ำมันอีกด้วย อย่าลืมว่าธุรกิจการทำนาไม่เหมือนกับธุรกิจการค้าขายเชิงพาณิชย์ทั่วไป เพราะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวและคำนวณตัวเลขยาก

                ผมมองว่าสำหรับโครงการประกันราคา ก่อนหน้านี้มีการชดเชยในส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างสมัยที่ผมยังทำนาอยู่นั่น มีการชดเชยเกวียนละ 50 บาท พอเสร็จออกมาแล้วเงินไม่ถึงมือชาวนา เพราะเกิดการคอรัปชั่นกันในหมู่ข้าราชการ จึงมีการเปลี่ยนหันมาช่วยเหลือด้านอื่นแทน จนกระทั่งเข้ามาสู่โครงการรับจำนำ เพื่อที่จะมาช่วยเหลือชาวนา เพราะโครงการรับจำนำ ชาวนามีโอกาสจะถอนทุนคืนได้ ซึ่งโครงการประกันราคานั้น ผมค่อนข้างเห็นด้วย แต่ถามว่าความพร้อมตอนนี้ของรัฐบาลมีมากแค่ไหน ผมถามว่าทั่วประเทศมีพี่น้องเกษตรกร 3.7 ล้านครอบครัว และกว่าจะจัดทำทะเบียนในแต่ละที่ กว่าจะทำประชาคม และกว่าจะมาประชุมกันใหม่ แค่ทำทะเบียนเกษตรกร ผมคิดว่าอีก 3 เดือน ก็คงยังไม่เสร็จ แต่อีก 3 เดือนโครงการนี้จะเปิดแล้ว

                นอกจากนี้ ยังมีปัญหาประเภท ชาวนา 1 คน เช่านาจาก 2 เจ้าของ ถ้าจะเข้าสู่โครงการประกันราคา จะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องจดทะเบียนประกันอย่างไร ตรงนี้รัฐบาลยังมีมีการคิดหาทางแก้ปัญหาไว้เลย แล้วยังมีเรื่องราคาที่ยังตกลงกันไม่ได้ หากตั้งราคาที่ชาวนารับไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น ชาวนาก็จะปิดถนนเรียกร้อง เกิดเป็นปัญหาการเมืองขึ้นอีก หากอยากจะทำโครงการประกันราคาขึ้นมา ขอให้ตลาดเดินได้ ไม่มีข้าวตกค้างในประเทญ และที่สำคัญต้องมีคณะกรรมการที่จะมาควบคุมโครงการประกันราคา

                อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นของผม มองว่าโครงการประกันราคายังไม่ควรเปิดตอนนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่มีความพร้อมด้านต่างๆ แต่ตอนนี้รัฐบาลน่าจะหันมาปรับปรุงโครงสร้างของโครงการรับจำนำที่มีผลเสียหายเกิดผลกระทบอยู่ในขณะนี้ ในฤดูนาปีนี้ก่อน พอเสร็จจากนี้ ฤดูนาปีของปีหน้าโครงการประกันราคาจึงค่อยเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าทำทั้งโครงการรับจำนำและโครงการประกันราคาควบคู่กัน ผมมองว่าจะเกิดปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นได้ เพราะทุกวันนี้ชาวนายังไม่มีความรู้เลยว่าการประกันราคาคืออะไร ทำอย่างไร เพราะรัฐไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เท่าที่ควร

คุณสุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ 

                การประกันความเสี่ยงเป็นเรื่องทำให้ชาวนาสามารถที่จะขายข้าว และรู้ตัวตั้งแต่วันที่เริ่มปลูกเลยว่า เมื่อสิ้นฤดูแล้วอย่างน้อยจะขายได้ราคาเท่าไหร่ ไม่ใช่การพยุงราคาแต่เป็นการประกันความเสี่ยงให้ชาวนาว่า อย่างน้อยก็จะขายได้ไม่ต่ำกว่าต้นทุน มั่นใจได้ว่าจะไม่ขาดทุนจากการขายข้าว

                ในกระบวนการทำประกัน ในส่วนของชาวนา จะต้องไปทำประกัน คือไปซื้อกรมธรรม์กับทาง ธ.ก.ส. โดยในกรมธรรม์ต้องไปแจ้งว่า ท่านมีที่ดินเท่าไหร่ ผลผลิตที่คาดว่าจะได้เท่าไหร่ เพื่อที่จะทำวงเงินประกัน โดยชาวนาที่ทำประกันจะได้เงินที่เรียกว่าเงินสินไหม ก็คือเป็นส่วนต่างระหว่างระคาอ้างอิงกับราคาประกัน สมมติว่าประกันไว้ตันละ 9,000 บาท พอถึงวันที่จะเรียกสินไหมแล้วราคาตกไปเป็นตันละ 7,000 บาท เพราะฉะนั้น ตามกรมธรรม์นี้รัฐจะจ่ายส่วนต่างให้ตันละ 2,000 บาท แต่ในทางกลับกัน หากในเวลานั้นราคาข้าวสูงขึ้นกว่าตันละ 9,000 บาท ชาวนาก็จะไม่ได้รับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนั้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น การประกันราคา ก็คือการช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร โดยให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้อย่างสบายใจว่าจะไม่ขาดทุนจากการขายข้าว

                ในส่วนของรัฐบาล ก็จะต้องดูในเรื่องของราคาประกันสำหรับทั่วประเทศ ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ และที่สำคัญจะต้องมีการกำหนดเพดานสูงสุดของการรับประกันว่าเป็นเท่าไหร่ ก็คือจะเริ่มประกาศตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยจะประกาศทุกสัปดาห์ ตรงนี้จะต้องมีคณะกรรมการเข้ามาดูแลว่าราคาอ้างอิงที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร และประกาศให้ชาวนารับรู้ เพื่อที่จะเข้าใจกระบวนการนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก และรัฐบาลต้องมีการประเมินผล เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงโครงการต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการประกัน ก็จำเป็นต้องมีค่าเบี้ยประกันด้วย ในกรณีนี้ สมมติว่าจะให้จ่ายค่าเบี้ยประกัน ก็คงให้จ่ายในราคาที่ต่ำ ก็คือรัฐบาลก็คงจะอุดหนุดในส่วนนี้

                ผลกระทบในเรื่องของงบประมาณ ระหว่างโครงการประกันราคากับโครงการรับจำนำนั้น สำหรับโครงการรับจำนำ รัฐไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภาระหนี้สินจะเป็นเท่าไหร่ เพราะต้องรอให้ข้าวในสต็อกขายออกไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการขายกันแบบไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่นัก จึงทำให้เกิดการขาดทุนมากขึ้น ในขณะที่โครงการประกันราคา ไม่จำเป็นต้องรับซื้อข้าวเข้ามาในสต็อก ฉะนั้นก็จะตัดกระบวนการเหล่านั้นออกไป จึงทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ทำให้เกิดวินัยทางการคลัง เพราะหากจะมีการใช้จ่ายอะไรต้องมีการผ่านสภาก่อน

                โดยสรุปแล้ว ระบบการประกันราคานั้น ถูกออกแบบมาให้ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก ผลิตและค้าขายข้าวเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยที่รัฐก็ไม่ต้องซื้อข้าวเข้าสต็อก ไม่ต้องจ้างโรงสี ไม่ต้องขายข้าวขาดทุน ตลาดข้าวก็จะกลับมาค้าขายกันตามปกติเหมือนสมัยก่อนที่ยังไม่มีการรับจำนำ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้นั้น รัฐจะต้องให้งบประมาณในการพัฒนาในเรื่องของข้าวสาร ข้าวเปลือก ไม่ใช่ทำแค่โครงการประกันราคาอย่างเดียวแล้วก็จบ ดังนั้นส่วนแบ่งตลาดที่ต้องสูญเสียให้เวียดนาม ก็น่าจะกลับคืนมาได้ ถ้าเราสามารถพัฒนาคุณภาพข้าวได้

 *********** 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   General Board
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...